(ภาพจาก Google)
ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับนายทุนหน้าเลือดใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องเงินให้นำเอาที่ดินมา “ขายฝาก” กับตัวเองไว้ พอสุดท้ายก็ยึดที่ดินหรือบ้านนั้นๆ ไปได้เลย
มีคนถามผมหลายคนครับว่า “จำนอง” กับ “ขายฝาก” แตกต่างกันอย่างไร ทำไมนายทุนถึงชอบรับซื้อฝากมากกว่ารับจำนอง
การจำนองนั้นกรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ที่จะเอาทรัพย์สินไปจำนองกับผู้รับจำนองครับ และถ้ามีการผิดนัดการชำระหนี้ ผู้รับจำนองสามารถฟ้องร้องผู้จำนองได้ เพียงแต่ก็จะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และมีการขึ้นโรงขึ้นศาลกันหลายรอบอยู่
แต่การขายฝากนั้น ผู้นำทรัพย์สินไปขายฝากไว้ จะต้องชำระหนี้กับผู้รับซื้อฝากภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นแล้วทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของผู้รับซื้อฝากไว้ทันที โดยมิต้องมีการดำเนินการฟ้องร้องใดๆ
ตัวอย่างเช่น นายคอนโด ได้นำบ้านไปขายฝากกับ นายติดดอย โดยกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน 6 เดือน เป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาท (ซึ่ง นายคอนโด อาจจะได้รับเงินจาก นายติดดอย น้อยกว่านั้น ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้) โดยหลังโฉนดจะมีการระบุการเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมสิทธิ์เป็นของ นายคอนโด ในลักษณะของการกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาไว้ และถ้านาย คอนโด ไม่สามารถมาไถ่ถอนภายในระยะเวลาที่กำหนด กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของ นายติดดอย โดยสมบูรณ์
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการขายฝากจึงมีความเสี่ยงมากสำหรับผู้กู้ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่และอาจจะโดนหลอกจากนายทุนหน้าเลือด
แต่ก็ไม่ใข่ว่านายทุนผู้รับซื้อฝากจะรับบทป็น “นายทุนหน้าเลือด” เสมอไปนะครับ ทุกกระบวนการทางนิติกรรมมันถูกออกแบบมาแล้วให้เหมาะกับบางสถานการณ์
ผมเคยได้คุยกับนายหน้าบางคนเรื่องการขายฝาก เค้าเล่าว่าสมัยหนึ่งเค้าเคยรวยจากการเป็นนายหน้าเรื่องนี้ และทนเห็นชาวบ้านโดนยึดบ้านไปต่อหน้าต่อตาไม่ได้ ก็เลยเลิกไป แต่หลังจากนั้นก็มีคนมาขอร้องให้เค้าพาไปหานายทุนเพื่อจะขายฝาก ตอนแรกเค้าปฏิเสธ แต่พอฟังเหตุผลและความจำเป็นของคนกู้แล้วก็เลยยอมทำอีกครั้ง ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้กู้ก็นำเงินไปแก้ปัญหาและสามารถนำเงินมาไถ่ถอนได้ทันเวลา เค้าจึงสรุปว่าในทุกๆ สถานการณ์มันก็มีเครื่องมือที่เหมาะสมกับมันอยู่ เพียงแต่เราต้องพิจารณาให้ดีก่อนแล้วจึงดำเนินการ สุดท้ายเค้าจึงกลับมาทำนายหน้าขายฝากอีกครั้ง เพียงแต่ไม่ได้ทำทุกดีลที่ผ่านเข้ามา
ฝากเป็นข้อมูลให้กับเม่าคอนโดทั้งหลายเป็นความรู้นะครับ เผื่อในอนาคตอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับนิติกรรมในลักษณะนี้กัน#คอนโดติดดอย
By Tiddoi